ประวัติ

ความเป็นมาของศูนย์ ECoWaste

ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการ และใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร (Excellent Center of Waste Utilization and Management) หรือเรียกสั้นๆว่า ECoWaste เป็นหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือของสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ และคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) มีประสบการณ์ในการศึกษา วิจัยด้านการบำบัดและจัดการของเสียมากว่า 20 ปี โดยเริ่มจากการรวมกลุ่มของอาจารย์ นักวิจัยและวิศวกร ที่สนใจด้านการบำบัดน้ำเสียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 โดยเน้นที่การบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น น้ำเสียจากโรงงานแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าว น้ำมันปาล์ม อาหารและผลไม้กระป๋อง โดยใช้เทคโนโลยีแบบไม่ใช้อากาศ (Anaerobic Technology) ที่สามารถบำบัดน้ำเสีย และผลิตพลังงานได้ด้วยกระบวนการเดียวกัน งานวิจัยของกลุ่มนี้ได้เริ่มงานทางด้านก๊าซชีวภาพโดยการริเริ่มของ ศาสตราจารย์ ดร. มรกต ตันติเจริญ และรองศาสตราจารย์ ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ที่เป็นผู้บุกเบิก จากโครงการการใช้ประโยชน์จากของเสียโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ASEAN Economic Cooperation Programme (AAECP) ในความร่วมมือของ ASEAN Working Group on Food Waste Materials ในเริ่มแรก และอาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้ผลักดันก่อให้เกิดกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพขึ้นในสายวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะพลังงานและวัสดุ ซึ่งต่อมาแยกออกมาเป็นคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีในปี พ.ศ. 2536 ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี – บางมด และในปี 2539 กลุ่มวิจัยนี้มีการขยายงานวิจัยและพัฒนามากขึ้นและในหลายแขนง จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นห้องปฏิบัติการวิจัยด้านการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสีย (Waste Utilization and Management Laboratory) และได้ย้ายมาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี – บางขุนเทียนเมื่อปี พ.ศ. 2543 ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้ยกระดับขึ้นเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นศูนย์ความร่วมมือระหว่าง มจธ. และ ไบโอเทค

จากการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ของศูนย์ ECoWaste ทำให้งานทางด้านก๊าซชีวภาพที่เป็นเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทย ซึ่งเดิมเป็นเพียงลักษณะการผลิตก๊าซชีวภาพโดยขาดความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ทางศูนย์ ECoWaste มีส่วนช่วยทำให้ประเทศไทยมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับแนวหน้า และมีเทคโนโลยีในระดับอุตสาหกรรมโดดเด่นในภูมิภาคนี้ของเอเชีย มีการใช้ประโยชน์จากการบำบัดน้ำเสียและการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร

วิสัยทัศน์

ECoWaste มุ่งสู่ความเป็นศูนย์ชั้นนำของภูมิภาค ในการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการของเสียอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งพลังงานทดแทน

พันธกิจ

ทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อการปรับปรุงกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะด้านการบำบัดของเสียและการผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อสร้างองค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ทำการสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและภูมิภาค

เป้าหมาย

ศูนย์ ECoWaste จะมุ่งเน้นการวิจัยเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี/การออกแบบการผลิตก๊าซชีวภาพทางวิศวกรรม งานวิจัยพื้นฐานทางด้านจุลินทรีย์และชีวเคมีของการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศ และพื้นฐานทางด้านวิศวกรรม เพื่อพัฒนาให้ระบบทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นพลังงานทดแทน นอกจากนี้ยังศึกษาการจัดการของเสียและการนำของเสียไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการลดปริมาณของเสียในอุตสาหกรรมเกษตร / เทคโนโลยีสะอาด จากองค์ความรู้ที่ได้ในประเทศ ศูนย์ ECoWaste มีเป้าหมายที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งจะช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ขาดแคลนในสาขานี้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ลดการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิง และลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและสังคม และเกิดความยั่งยืนในการพัฒนาสืบไป

You are donating to : Greennature Foundation

How much would you like to donate?
$10 $20 $30
Would you like to make regular donations? I would like to make donation(s)
How many times would you like this to recur? (including this payment) *
Name *
Last Name *
Email *
Phone
Address
Additional Note
paypalstripe
Loading...